ReutersReuters

ชี้ผลกำไรภาคเอกชนในสหรัฐ,ยุโรปได้รับผลกระทบขณะผู้บริโภคประหยัดเงิน

มิลาน--9 ส.ค.--รอยเตอร์

  • นักวิเคราะห์ระบุว่า นักลงทุนในหุ้นบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคขนาดใหญ่จำเป็นจะต้องเลือกซื้อหุ้นอย่างระมัดระวังมากยิ่งขึ้นในช่วงนี้ ในขณะที่ปริมาณเงินออมจำนวนมากที่ผู้บริโภคเคยสะสมไว้ในช่วงที่เกิดวิกฤติโรคระบาดได้ร่อยหรอลงแล้ว และสิ่งนี้ส่งผลให้ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยหลังเกิดวิกฤติโรคระบาดชะลอตัวลงด้วย โดยผู้บริโภคได้หันมาให้ความสำคัญกับราคาสินค้าและบริการมากยิ่งขึ้นในช่วงนี้ และสิ่งนี้ส่งผลลบต่อความสามารถในการกำหนดราคาของภาคเอกชน ทั้งนี้ บริษัทหลายแห่งได้ออกประกาศเตือนเรื่องผลกำไรในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงบริษัทผู้ผลิตสินค้าหรูหรา, บริษัทในภาคอาหาร และสายการบิน และปัจจัยนี้ส่งผลให้นักลงทุนกังวลกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในสหรัฐและประเทศสำคัญอื่น ๆ โดยความกังวลดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้นักลงทุนเทขายหุ้นออกมาเป็นจำนวนมากในเดือนนี้ และส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกมีมูลค่าลดลงราว 4.8 ล้านล้านดอลลาร์ภายในเวลาเพียง 3 วันในเดือนนี้

  • นักลงทุนจำเป็นจะต้องพิจารณาว่า มีธุรกิจใดบ้างที่จะไม่ได้รับความเสียหายจากการที่ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติ และมีธุรกิจใดบ้างที่จะไม่ได้รับความเสียหายจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ เชียรา ร็อบบา จากบริษัทเจเนอราลี แอสเซท แมเนจเมนท์กล่าวว่า "ผู้บริโภคสามารถปรับตัวรับการขึ้นราคาในช่วงที่ผ่านมา เพราะว่าผู้บริโภคเคยออมเงินไว้สูงมากในช่วงที่เกิดวิกฤติโรคระบาด แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าภาวะดังกล่าวได้สิ้นสุดลงแล้ว" และเธอกล่าวเสริมว่า "ฤดูการรายงานผลประกอบการไตรมาสสองแสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายเงิน และสิ่งนี้ก็ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ ปรับลดราคาสินค้าและบริการเพื่อจะได้กระตุ้นการบริโภค"

  • รายงานกิจกรรมทางธุรกิจประจำเดือนก.ค.ที่จัดทำโดยบริษัทเอสแอนด์พี โกลบอลบ่งชี้ว่า บริษัทในสหรัฐและยูโรโซนไม่สามารถผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปให้แก่ลูกค้าได้อย่างง่ายดายเหมือนในอดีต และก็มีบริษัทหลายแห่งที่รายงานว่า ทางบริษัทมีอำนาจน้อยลงในการกำหนดราคา และปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคอยู่ในระดับต่ำ โดยบริษัทที่ส่งสัญญาณแบบนี้รวมถึงเนสท์เล่ของสวิตเซอร์แลนด์, สายการบินไรอันแอร์ของไอร์แลนด์, แมคโดนัลด์ของสหรัฐ, วีซ่าของสหรัฐ และเวิลด์ไลน์ของฝรั่งเศส และการส่งสัญญาณแบบนี้ก็มักส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทดิ่งลงด้วย ทั้งนี้ แบงก์ออฟอเมริการายงานในวันอังคารว่า มีบริษัท 40 แห่งในยุโรปที่ปรับลดการคาดการณ์ลงไปแล้วในฤดูการรายงานผลประกอบการครั้งนี้ ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในรอบกว่าหนึ่งปี โดยบริษัทส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าอุปสงค์อยู่ในระดับต่ำ

  • ธุรกิจสินค้าหรูหราได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในจีน โดยธุรกิจแซงต์ โลรองต์ในบริษัทเคริงของฝรั่งเศสได้ปรับลดราคากระเป๋า Loulou ลง 10-15% ในฝรั่งเศส, อังกฤษ, สหรัฐ และจีนในเดือนพ.ค. ซึ่งการปรับลดราคาแบบนี้ถือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นน้อยครั้งมากในธุรกิจสินค้าหรูหรา โดยธนาคารบาร์เคลย์สระบุว่า สิ่งนี้อาจสะท้อนให้เห็นว่าแซงต์ โลรองต์ยอมรับว่าทางบริษัทขึ้นราคามากเกินไปในช่วงก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ นายลูกา โซลกา นักวิเคราะห์ของบริษัทเบิร์นสไตน์ระบุว่า หลังจากธุรกิจสินค้าหรูหราเคยขึ้นราคาในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยมาเป็นเวลานาน 3 ปี ธุรกิจสินค้าหรูหราก็่ส่งสัญญาณว่าอาจจะขึ้นราคาเพียง 5-7% ซึ่งเท่ากับค่าเฉลี่ยระยะยาว หรืออาจจะปรับขึ้นน้อยกว่านั้นด้วย

  • ตัวอย่างหนึ่งของบริษัทในกลุ่มนี้คือเบอร์เบอรี่ของอังกฤษ ซึ่งเพิ่งปลดซีอีโอออกจากจำแหน่ง และออกประกาศเตือนเรื่องผลกำไรในเดือนก.ค. โดยราคาหุ้นเบอร์เบอรี่เคยดิ่งลงเกือบ 20% ในวันที่มีการประกาศผลการดำเนินงานของบริษัท ทางด้านหุ้นบริษัทสว็อทช์ของสวิตเซอร์แลนด์ และหุ้นบริษัทฮิวโก บอสของเยอรมนีได้ครองตำแหน่งหุ้นสองตัวที่ถูกขายชอร์ตเซลมากที่สุดในดัชนี STOXX 600 ของตลาดหุ้นยุโรป หลังจากบริษัทสองแห่งนี้เปิดเผยผลประกอบการที่น่าผิดหวัง ทั้งนี้ ร็อบบาระบุว่า การสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญด้วยเช่นกัน โดยธุรกิจที่มีการสร้างความแตกต่างในระดับต่ำ อย่างเช่นธุรกิจอาหาร, เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ประจำวัน อาจจะเป็นธุรกิจที่เผชิญความเสี่ยงมากที่สุด--จบ--

Eikon source text

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

Accedi o crea un account gratuito per leggere queste notizie

Altre notizie da Reuters

Più notizie